การได้รับคริปโทเคอร์เรนซี / โทเคนดิจิทัลจากการให้ หรือได้รับรางวัล อย่างเช่น ได้รับแจก airdrop หรือได้รับเป็นรางวัลส่งเสริมการขาย เป็นต้น ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว
การวัดมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มาหรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
เมื่อนำมูลค่าที่ได้รับไปเสียภาษีแล้ว จะสามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการคำนวณภาษีเมื่อจำหน่ายออกไปจริงได้
ตัวอย่าง
ได้รับ Airdrop เหรียญ BOBA มูลค่ารวม 10,000 บาท จะต้องนำไปเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(8) สำหรับ 10,000 บาท ที่ถือเป็นรายได้นี้จะถือเป็นต้นทุนของเหรียญ BOBA ต่อมามีการขายเหรียญ BOBA ออกไปด้วยมูลค่า 12,000 บาท จะเกิดกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 40(4) เท่ากับ 2,000 บาท (12,000 – 10,000)
จากตัวอย่างเดิม หากวันที่ได้รับเหรียญ BOBA เหรียญ BOBA ยังไม่มีราคาตลาดซื้อขาย ดังนั้นรายได้มาตรา 40(8) จะเท่ากับ ศูนย์ ต้นทุนของเหรียญ BOBA ก็จะเท่ากับ ศูนย์ เมื่อมีการขายเกิดขึ้น มูลค่าที่ขายได้ทั้งหมด 12,000 บาท จะถือเป็นกำไรการจำหน่ายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 40(4)
#คริปโทเคอร์เรนซี #ภาษีคริปโต #Cryptotax #กำไรจากการขายคริปโต #บิทคับ #airdrop
ที่มา:https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/lorkhor/information/manual_crypto_310165.pdf